การรักษาด้วยเทคนิคของเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)

การรักษาด้วยเทคนิคของเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ คือเป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีการนำเชื้ออสุจิและไข่ออกจากร่างกาย และมีการปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย เพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ทั้งนี้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปฏิสนธินอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (IVF) การช่วยปฏิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ (ICSI)

การย้ายเซลล์สืบพันธุ์เข้าไปในท่อนำไข่หรือการทำกิ๊ฟท์ (GIFT: Gamete Intrafollopiantransfer) การย้ายตัวอ่อนเข้าไปในท่อนำไข่หรือซิฟท์ (ZIFT:Zygote/Embryo Intrafollopian Transfer) เป็นต้น แต่วิธีในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือ IVF และ ICSI

IVF และ ICSI คืออะไรและมีข้อแตกต่างกันอย่างไร

IVF (In Vitro Fertilization)

คืออะไรหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “เด็กหลอดแก้ว” คำนี้มาจากภาษาลาติน In Vitro ที่แปลว่า ภายนอกร่างกายมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ หมายถึงภายในหลอดแก้ว หรือภายในหลอดทดลองนั่นเอง

In Vitro Fertilization ( IVF ) เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีการนำเชื้ออสุจิและไข่ออกจากร่างกาย และมีการปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย แต่เดิมทำในหลอดทดลองหรือหลอดแก้ว จึงหมายถึงการปฏิสนธิในหลอดแก้ว ซึ่งในปัจจุบันมักใช้จานเพาะเลี้ยง (Plate) ในการปฏิสนธิแทน วิธีการคือ หลังจากนำเซลล์ไข่และตัวอสุจิไปวางผสมกันในจานเพาะเลี้ยง โดยปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อตัวอสุจิสามารถปฏิสนธิกับไข่ได้แล้ว จะพัฒนาต่อเป็นตัวอ่อนขนาดเล็ก โดยตัวอ่อนที่ได้จากกระบวนการนี้ จะถูกเลี้ยงอยู่ในตู้เพาะเลี้ยงจนถึงระยะที่เหมาะสม และนำไปย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการฝังตัว หรือตั้งครรภ์นั้นเอง

ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection ) คืออะไร แตกต่างกับ IVF อย่างไร?

ICSI คือการช่วยการปฏิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มักนำมารักษาภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่สามีมีอสุจิผิดปกติหรืออสุจิไม่แข็งแรงหรือในคู่ที่เคยประสบผลล้มเหลวจากการปฏิสนธิของไข่และตัวอสุจิในการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นเทคนิคที่ถูกพัฒนาและคิดขึ้น เพื่อแก้ไขจุดด้อยของวิธีการ IVF เนื่องจากเราพบปัญหาว่าหลังทำ IVF มีบางกลุ่มที่เชื้อไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ได้เอง อาจจะเนื่องจากตัวเชื้อไม่แข็งแรง, คุณภาพต่ำ, ตัววิ่งของตัวเชื้อไม่ดี, หรือกรณีฝ่ายหญิงมีปัญหาเรื่องเปลือกไข่หนาจนอสุจิเจาะเข้าไปไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์สามารถช่วยเชื้อได้โดย จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงตัวเดียว และใช้เข็มแก้วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็ก ๆ แบบเจาะเปลือกไข่ ฉีดตัวเชื้อเข้าไปในเซลล์ของไข่โดยตรง ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเรียกว่า วิธีอิ๊กซี่ (ICSI) ปัจจุบันเป็นวิธีที่รับความนิยมทั่วโลก เนื่องจากสามารถเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ (Fertilization Rate) ได้มากกว่ากระบวนการ IVF ทำให้เราประสบผลสำเร็จมากขึ้น

ใครบ้างที่เหมาะจะเข้ารับการรักษาโดยการวิธีเด็กหลอดแก้ว

  1. ฝ่ายหญิงท่อนำไข่มีความผิดปกติ (Tubal Factor) จนไม่สามารถแก้ไขได้โดยการผ่าตัด เช่น อุดตันตีบ หรือคดงอ, บวมน้ำ หรือไม่มีท่อนำไข่จากความพิการแต่กำเนิด, หรือเคยผ่าตัดท่อนำไข่ออกไปทั้งสองข้าง
  2. หญิงที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) รุนแรงจนมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Adhesion) ล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด หรือพังผืดจากการผ่าตัดรัดท่อท่อนำไข่ให้ใช้งานไม่ได้
  3. ปัญหาไข่ไม่ตกเรื่อรังและล้มเหลวจากการรักษาโดยยากินหรือฉีด หรือผู้ที่มีปริมาณไข่คงเหลือน้อย (Low Ovarian Reserve) ผู้ป่วยจะเหลือโอกาสไม่มากก่อนที่จะไม่มีไข่เหลือ
  4. ชายที่มีปัญหา (Male Factor) น้ำเชื้อตัวอสุจิน้อยกว่า 10 ล้านตัว/มิลลิลิตร (Oligozoospermia), การเคลื่อนไหวต่ำ (Asthenozoospermia), หรือรูปร่างผิดปกติมาก (Teratozoospermia), หรือไม่พบตัวอสุจิ (Azoospermia), ไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อออกมาได้ (Aspermia)
  5. ล้มเหลวจากการรักษาโดยการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) เกินจำนวนที่เหมาะสม
  6. คู่ที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Unexplaned Infertile) หรือพยายามมากกว่า 2 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ
  7. คู่ที่มีการตรวจวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (Preimplatation Genetic Testing: PGT) สำหรับคู่ที่เสี่ยงเป็นโรคผิดปกติ (Abnormal Genetic Dissease)ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่บุตรได้ ,เคยตั้งครรภ์แล้วได้บุตรพิการ หรือแท้งบุตรบ่อยเนื่องจากโครโมโซมผิดปกติ
  8. คู่ที่ต้องการเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อน ก่อนการรักษามะเร็ง ด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคอื่นๆ เช่น SLE (Systemic Lupus Erythematosus)
  9. หญิงที่มีความพิการแต่กำเนิดของมดลูก (Pelvic Organ Abnormal) ท่อนำไข่ หรืออวัยวะสืบพันธุ์ หรือกรณีไม่มีมดลูกจากการผ่าตัดทิ้ง (ตั้งครรภ์เองไม่ได้) หรือกรณีไม่มีรังไข่เนืองจากผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ลักษณะนี้ต้องใช้บุคคลที่สามมาช่วยร่วมรักษาด้วย

ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนรักษา

  • ฝ่ายหญิงและชาย รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่เสริมด้วยวิตามินที่เหมาะสม
  • ควรพักผ่อนเพียงพอ โดยนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดการสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
  • ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด รายละเอียดดังที่กล่าวข้างต้น

ขั้นตอนและระยะเวลาในการทำเด็กหลอดแก้ว

เมื่อท่านเข้ารับการรักษาที่ สไมล์ ไอวีเอฟ คลินิก (Smile IVF Clinic) แพทย์จะให้การดูแลรักษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตรยากของท่านใช้เวลาทั้งหมดโดยประมาณ 4-6 สัปดาห์ ดังต่อไปนี้

  1. ตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากโดยวิธีมาตรฐาน เพื่อประเมินความเหมาะสมที่จะให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ในแต่ละวิธี
  2. ตรวจเครื่องตรวจขึ้นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดเพื่อประเมินจำนวนฟองไข่เบื้องต้นและวัดระดับฮอร์โมนร่วมกับการใช้ยาฉีดที่เหมาะสมในการกระตุ้นรังไข่ โดยเริ่มฉีดยาในช่วงต้นของรอบเดือน ช่วงวันที่ 2-3 ของรอบประจำเดือน ใช้เวลา 8 -10 วัน
  3. ตรวจประเมินติดตามการตอบสนองของรังไข่ขนาดของฟองไข่ด้วยเครื่องตรวจความเสียงความถี่สูงร่วมกับการเจาะตรวจเลือดฮอร์โมน เมื่อขนาดฟองไข่เหมาะสมคือ 18 มิลลิเมตร มีจำนวน 2-3 ฟอง จะชักนำให้มีการตกไข่ด้วยยาฮอร์โมน หลังจากนั้นประมาณ 35-40 ชั่วโมง จะกำหนดเวลาที่ไข่ตกเพื่อเก็บไข่
  4. เก็บไข่ในขณะที่ทำให้หลับแบบลึกโดยแพทย์วิสัญญี จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กร่วมกับเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางช่องคลอด ดูดเก็บฟองไข่ และนำไปตรวจสอบจำนวนและคุณภาพโดยนักวิทยาศาสตร์
  5. ให้สามีเก็บน้ำเชื้ออสุจิในวันเดียวกันกับที่เก็บดูดฟองไข่ และนำมาผ่านกระบวนการเตรียมในห้องปฏิบัติการ
  6. ฟองไข่ที่ได้จะนำมาผสมกับเชื้ออสุจิที่ผ่านกระบวนการการเตรียมแล้ว เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนและเพาะเลี้ยงต่อในตู้เลี้ยงเฉพาะ
  7. เมื่อตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วจะได้รับการเพาะเลี้ยงเพื่อให้เจริญเติบโตมาถึงในระยะที่เหมาะสม เช่น ระยะ Cleavage วันที่ 2 หรือ 3, Blastocyst วันที่ 5 หรือ 6 จะทำการย้ายตัวอ่อนกลับตามระยะและอายุของตัวอ่อนในครั้งนี้เลย ซึ่งเรียกว่า รอบย้ายสด หรือบางกรณีไม่สามารถย้ายในรอบนี้ได้ มีการตัดเซลล์ตัวอ่อนเพื่อส่งตรวจหาความผิดปกติทางโครโมโซมหรือคัดกรองโรคทางพันธุกรรม จำเป็นต้องแช่แข็งเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ แล้วจึงมาย้ายในรอบเดือนถัดไป เรียกว่า การย้ายรอบแช่แข็ง
  8. หลังจากทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในรอบสดจะมีการให้ยาเพื่อประคับประคองพยุงการตั้งครรภ์ต่อ 10-14 วันหลังจากย้าย ก็จะนัดมาตรวจเลือดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ หากสำเร็จก็นัดตรวจติดตามจนกระทั้งคลอดบุตร
  9. กรณีไม่สำเร็จในรอบย้ายสด และยังเหลือตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ แพทย์จะทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องทำการแก้ไขให้เรียบก่อน และนัดเตรียมย้ายตัวอ่อนในรอบประจำเดือนถัดไป

ระยะของการย้ายตัวอ่อน

  1. ย้ายตัวอ่อนในระยะคลีเวจอายุ 2 หรือ 3 วันหลังการผสม (Cleavage Transfer)
    หลังตัวอ่อนปฏิสนธิ จะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนพัฒนาแบ่งเซลล์เป็น 2-4 เซลล์ ใช้เวลา 2 วัน ได้ 6-8 เซลล์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ตามอายุของตัวอ่อน เช่น อายุ 3 วัน จะย้ายกลับ 3 วันหลังนับจากวันดูดฟองไข่
  2. การย้ายตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิส อายุ 5 หรือ 6 วันหลังผสม (Blastocyst Transfer)
    เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้อัตราตั้งครรภ์สำเร็จมากขึ้น เมื่อเทียบกับการย้ายระยะคลีเวจ โดยการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไว้ภายนอกร่างกายจนตัวอ่อนเจริญเติบโตถึงระยะพร้อมฝังตัว (ใช้ระยะเวลา 5 หรือ 6 วันหลังการผสม) ที่เรียกว่า บลาสโตซิส (Blastocyst) แล้วจึงค่อยใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัว และเกิดการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ตัวอ่อนพร้อมฝังตัวเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
  3. การย้ายตัวอ่อนที่มีการตัดเซลล์เพื่อตรวจคัดกรองโครโมโซม (Cleavage/Blastocyst Biopsy Transfer)

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้อัตราตั้งครรภ์สำเร็จสูงมากขึ้นและลดภาวะแท้งบุตร มีการตรวจคัดกรองตัวอ่อนก่อนย้าย โดยการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงอายุ 3 วัน หรือ 5/6 วันหลังการผสมพร้อมกับตัดเซลล์ไปส่งตรวจ ที่เรียกว่า (Cleavage Biopsy), (Blastocyst Biopsy) ตามลำดับ จากนั้นทำการแช่แข็งตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโตไว้ รอจนทราบผลตรวจคัดกรองตัวอ่อน เลือกตัวอ่อนปกติมาใช้โดยนำตัวอ่อนมาละลายและย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกในรอบที่เตรียมย้ายแบบแช่แข็งต่อไป

โอกาสประสบความสำเร็จ

โอกาสการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วต่อรอบการรักษาซึ่งขึ้นกับอายุของคู่สมรส คุณภาพของน้ำเชื้อ จำนวนและคุณภาพฟองไข่ที่ได้ในแต่ละรอบ และความพร้อมในการรับตัวอ่อนย้ายกลับ โดยส่วนใหญ่หากผู้ป่วยมีจำนวนไข่คุณภาพดีอย่างเพียงพอ ประมาณ 15 ฟองขึ้นไป ความสำเร็จของการตั้งครรภ์สะสมโดยรวมจะอยู่ประมาณ ร้อยละ 50-60 และดีขึ้นเป็น 70-80 % หากมีตัวอ่อนที่โครโมโซมปกติอย่างน้อย 2 ตัว และได้ย้ายกลับ โดยแบ่งเป็นอัตราความสำเร็จ ร้อยละ 35- 40 ต่อรอบที่มีการย้ายตัวอ่อนในรอบที่กระตุ้นหรือรอบสด สูงขึ้นประมาณร้อยละ 40-50 ต่อรอบที่มีการย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง กรณีที่มีการย้ายตัวอ่อนที่ตรวจคัดกรองโครโมโซมแล้วพบว่าปกติ อัตราตั้งครรภ์สำเร็จจะสูงมากขึ้นเป็นร้อยละ 60-70
นอกจากนี้ โดยทั่วไปหลังการย้ายตัวอ่อนและตั้งครรภ์จากเด็กหลอดแก้วแล้ว ยังมีโอกาสแท้งบุตร โดยประมาณร้อยละ 15-20 ขึ้นกับอายุคุณผู้หญิงและชาย, คุณภาพตัวอ่อน, ความพร้อมของโพรงมดลูก ส่วนการย้ายตัวอ่อนที่คัดกรองโครโมโซมและพบว่าปกติจะช่วยลดอัตราการแท้งบุตรลงได้เหลือร้อยละ 5 (คลิกดูอัตราความสำเร็จเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ)

จุดเด่นของวิธีเด็กหลอดแก้ว

เป็นเทคนิควิธีการรักษาที่ปลอดภัยและเริ่มใช้มาประมาณ 40 ปีแล้ว สามารถช่วยแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยากได้เกือบทุกด้าน ไม่ว่าเป็นปัจจัยจากเชื้อไม่สมบูรณ์หรือแข็งแรงของฝ่ายชาย การเจริญเติบโตและตอบสนองของฟองไข่ของฝ่ายหญิง แพทย์ก็สามารถปรับให้เหมาะสมกับคนไข้ในแต่ละบุคคลได้ รวมถึงการช่วยปฏิสนธิและเพาะเลี้ยงตัวอ่อน โดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกเกิด ทำให้ทราบคุณภาพ ศักยภาพเบื้องต้นของตัวอ่อนได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้โอกาสสูงสุดสามารถวางแผนละกำหนดช่วงตั้งครรภ์ได้เหมาะสมและง่ายขึ้น สามารถตั้งครรภ์ได้ไวขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีธรรมชาติหรือฉีดเชื้อ นอกจากนี้ยังช่วยคัดกรองเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรง และลดปัญหาโรคผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือลดเด็กพิการได้

จุดด้อยของวิธีเด็กหลอดแก้ว

วิธีการนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและดูแลโดยผู้ที่มีประสบการณ์เฉพาะ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง ทำให้คนไข้บางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ และภาครัฐของประเทศไทยยังไม่มีนโยบาย งบประมาณและการสนับสนุนผู้มีภาวะมีบุตรยาก ความคาดหวังในอนาคต หากมีการสนับสนุนตรงจุดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีภาวะมีบุตรยากเป็นอย่างยิ่ง